ความดันลมเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมที่สุดสำหรับการเติมลมยางรถบรรทุก ?
ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการดูแลรักษายางรถบรรทุกคือการใช้ความดันลมที่เหมาะสม ไม่มียางหรือยางในเส้นใดที่จะเก็บลมไว้ได้อย่างถาวร เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากสภาวะแรงดันลมอ่อน จะต้องตรวจเช็คและเติมลมให้กับยางรถของท่านอย่างสม่ำเสมอ เพราะความดันลมยางมีผลกระทบโดยตรงกับสมรรถนะของยาง ทั้งกับอายุของหน้ายางและความทนทาน และยังส่งผลต่อการใช้งานอีกด้วย
ความดันลมยางที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้โครงยางมีการยุบตัวมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้ยางเกิดความร้อนสะสมที่แก้มยางสูง แรงต้านทานการหมุนของยางเพิ่มขึ้น และเกิดการสึกหรอก่อนเวลา ในกรณีรุนแรงจะทำให้โครงยางเสียหาย ส่งผลให้เกิดยางระเบิดได้
ในทางกลับกัน ความดันลมยางที่สูงกว่ามาตรฐาน ซึ่งรถจะมีความรู้สึกขับได้เร็วขึ้น การออกตัวหรือบังคับเลี้ยวดีขึ้นอันเนื่องแรงดันลมที่มากช่วยผยุงรถให้ลอยสูงขึ้นจากพื้นผิวมา แต่จะทำให้การยึดเกาะถนนลดลง เกิดการลื่นไถลได้ง่ายเมื่อเจอสภาพพื้นถนนเปียก รวมทั้งส่งผลต่อการสึกหรอที่ผิดปกติของหน้ายางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งเพลาขับ
- การเติมลมยางเพื่อให้ได้ระดับที่เหมาะสมนั้นต้องคำนึงถึง น้ำหนักรถ น้ำหนักสิ่งของที่บรรทุก ความเร็วที่ใช้ และสภาพถนนที่ใช้งานของรถคันนั้น เพื่อพิจารณาในการเติมลมยางให้เหมาะสม เพื่อจะทำให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในการใช้งาน
- เพื่อความปลอดภัยควรใช้ความดันลมยางจากคู่มือรถ เปรียบเทียบกับความดันลมยางที่ระบุในสเปคยางแต่ละขนาด และควรชั่งน้ำหนักตกแต่ละเพลาของรถในขณะที่บรรทุกสิ่งของด้วย
- การเติมหรือการวัดความดันลมยางควรทำขณะที่ยางเย็น และอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้วัดต้องมีความแม่นยำได้มาตรฐาน รวมถึงปฎิบัติตามคำแนะนำการใช้งานที่ผู้ผลิตเครื่องมือนั้นๆแนะนำ
- ฝาครอบวาล์วนั้นมีไว้เพื่อให้แน่ใจว่ามีการปิดอย่างแน่นหนา และยังเป็นการปกป้องส่วนภายในของก้านวาล์วอีกด้วย ก้านต่อก้านวาล์วควรปรับใช้งานให้เหมาะสม และอาจจำเป็นสำหรับการตรวจวัดความดันลมยางในตำแหน่งล้อคู่
ข้อแนะนำในการเติมลมยางรถบรรทุก: ในการเติมลมยางรถบรรทุกไม่ได้ระบุตายตัวว่าต้องเติมที่ความดันลมยางที่เท่าไหร่ แต่ขึ้นอยู่กับการใช้งาน ยางอยู่ในตำแหน่งไหน หากเป็นตำแหน่งเพลาขับ สามารถเติมลมยางได้ตั้งแต่ 85-100 psi ขึ้นอยู่กับขนาดยาง หากอยู่ที่ตำแหน่งพ่วงหรือล้อลากที่ต้องรับน้ำหนักการบรรทุกเยอะๆ ให้เพิ่มแรงดันเป็น 100-125 psi ตามขนาดยาง และยังสามารถเติมลมยางได้มากกว่า 130 psi ในยางขนาดใหญ่มากๆ หรือการบรรทุกสิ่งของน้ำหนักหลาย 10 ตัน
สิ่งที่ไม่ควรทำ:
- ห้ามปล่อยลมยางออกขณะที่ยางร้อน หรือเพิ่งจอดรถ
- ไม่ควรบรรทุกสิ่งของเกินกว่าน้ำหนักที่ระบุในสเปคยาง หากไม่ทราบควรปรึกษาผู้ที่มีความชำนาญ หรือติดต่อผู้ผลิตยางยี่ห้อนั้นๆ
คำแนะนำการเติมลมยางอย่างปลอดภัย
1. เติมลมยางในคอกเติมลมนิรภัยเสมอ
2. เอาไส้ไก่ออกก่อนเติมลมยางเสมอ
3. ห้ามอยู่ในบริเวณวิถีการระเบิด ขณะเติมความดันลมยาง
4. สวมรองเท้า และแว่นตานิรภัยเสมอ ขณะถอดหรือประกอบยาง
5. ความดันลมยางต้องไม่เกินขีดความสามารถในการรับความดันได้ของกระทะล้อ
6. มือ และ เท้า จะต้องไม่ไปอยู่ในคอกเติมลมยาง
7. หยุดเติมความดันลมยางทันที หากได้ยินเสียงประหลาด หรือเสียงที่บ่งบอกถึงการฉีกขาดในส่วนใดๆ ของยาง
คำเตือน : การเลือกใช้ยางที่ไม่ถูกต้อง การถอด-ใส่ยางที่ผิดวิธี การใช้งานยางและการบำรุงรักษายางที่ไม่ถูกต้อง อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของท่าน โปรดปฏิบัติตามคำแนะนำในการเลือกใช้ยาง การถอด-ใส่ยาง การใช้งานยางและการบำรุงรักษายางที่กำหนดไว้ในคู่มือการเลือกใช้ยางและการบำรุงรักษายางรถบรรทุกและรถบัสกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
คำเตือน : ยางบรรจุลมที่ติดตั้งบนวงล้อเรียบร้อยแล้วจะมีพลังมหาศาลที่พร้อมจะระเบิดอยู่ภายใน การใช้วงล้อที่ชำรุด ไม่ใช่ชุดเดียวกันหรือการประกอบใส่ที่ไม่ถูกวิธี อาจทำให้ชุดล้อที่ประกอบเกิดการระเบิดขึ้นได้ หากคุณอยู่ใกล้รัศมีที่ยางหรือชิ้นส่วนของวงล้อระเบิด แรงลมจากการระเบิด จะทำให้คุณบาดเจ็บสาหัสหรือถึงกับเสียชีวิตได้
คำเตือน : การให้บริการเกี่ยวกับยางหรือวงล้อมีความสำคัญต่อชีวิตและทรัพย์สินของท่านมาก ต้องดำเนินการโดยช่างผู้ชำนาญการด้านยางที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วเท่านั้น และใช้เครื่องมือและวิธีการที่ถูกต้อง การดำเนินการโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้องอันเนื่องจากความสับเพร่า ประมาท หรือตั้งใจ อาจส่งผลให้คุณหรือผู้อื่นได้รับบาดเจ็บหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ การเติมลมกลับไปในยางที่ผ่านการวิ่งโดยปราศจากลมหรือลมอ่อน (80 เปอร์เซ็นต์ หรือน้อยกว่ากำหนด) ยางเส้นนั้นอาจเสียหายภายในและระเบิดออกมาระหว่างที่คุณกำลังเติมลมอยู่ ชิ้นส่วนของวงล้อที่สึกหรอ ชำรุดหรือไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องจะสามารถระเบิดกระจายออกมาได้ ยางที่วิ่งโดยปราศจากลมมาก่อนจะต้องตรวจสอบด้านในของยางให้ถี่ถ้วนก่อนนำกลับมาใช้งานอีกครั้ง
ขอบคุณที่มา https://www.tiretruckintertrade.com/knowledge_view.php?id_knowledge=321